การดมเมล็ดกาแฟช่วยให้จมูกลืมกลิ่นน้ำหอมได้จริงหรือไม่?
คงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้น และพบเจอได้บ่อย ๆ หลังจากที่เราฟัง และดมน้ำหอมยอดฮิตตัวที่สอง ที่พนักงานร้านเครื่องสำอางแนะนำ โหลกาแฟที่แอบหลบมุมอยู่ตามชั้นวางจะถูกยื่นให้เราดมเพื่อ “เคลียร์จมูก” จากกลิ่นน้ำหอมที่เพิ่งดมไป ให้พร้อมสำหรับการดมน้ำหอมกลิ่นใหม่ที่กำลังจะถูกแนะนำ
“กลิ่นเมล็ดกาแฟ” จึงถูกเข้าใจโดยอัตโนมัติว่ามีสรรพคุณในการเคลียร์จมูกของเราให้ปลอดโปร่ง
.
คำถามคือ มันเป็นเช่นนั้นจริงหรือเปล่า?
.
ประสาทรับกลิ่นของมนุษย์คือระบบที่ถูกพัฒนามาเพื่อความอยู่รอด เราสามารถแยกแยะกลิ่นของความเปลี่ยนแปลงบางอย่างที่เป็นอันตรายต่อชีวิตได้ เช่นกลิ่นอาหารเน่าเสีย กลิ่นแก๊สหุงต้มจากห้องครัวที่รั่วออกมา และกลิ่นอะไรก็ตามที่ให้ความรู้สึก “ไม่ปกติ”
.
โพรงจมูก (Nasal Cavity) ของเรามีเซลล์ประสาทรับกลิ่น (Olfactory neurons) มากกว่า 5 ล้านเซลล์ มนุษย์เราจึงสามารถแยกแยะกลิ่นที่แตกต่างได้มากถึง 10,000 กลิ่น
.
แต่การทุ่มเทพลังงานไปกับข้อมูลจำนวนมหาศาลนี้ทำให้สมองทำงานหนักเกินไป เมื่อเราได้กลิ่นบางอย่างที่แม้จะแตกต่างกัน แต่มีองค์ประกอบทางเคมีเหมือนกันซ้ำ ๆ ไปเรื่อย ๆ จนสมองตรวจจับได้ว่าจะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง และไม่เป็นอันตราย สมองของเราจะเลิกสนใจมันและทำให้เราชินกับกลิ่นนั้นไปจนไม่สามารถดมกลิ่นนั้นได้เหมือนเดิม
.
ภาวะเช่นนี้ถูกเรียกว่า “จมูกล้า” (Olfactory Fatigue) หรือ “การปรับกลิ่น” (Odor Adaptation) ซึ่งปรากฏการณ์นี้เอง เป็นหนึ่งในเหตุผลว่าทำไมนักปรุงน้ำหอมจึงใช้กลิ่นบางอย่างที่ดู “ไม่ค่อยน่าอภิรมย์” อย่างสารสกัดจากต่อม Perineal ที่ผลิตสารที่ใช้เรียกร้องความสนใจจากเพศตรงข้ามของชะมดเช็ด หรือสารสกัดจากต่อมในทวารหนักของตัวบีเวอร์ในแคนาดา ยุโรป และไซบีเรียเพื่อสร้างความน่าสนใจ ความลึก และความรู้สึกขัดแย้งในการเล่าเรื่องของน้ำหอม
.
ทั้งยังเป็นสภาวะที่ผู้รังสรรค์กลิ่นใช้ในการตรวจสอบน้ำหอมด้วย โดยดมน้ำหอมกลิ่นที่เราต้องการตรวจสอบมาดมหลังจากที่ดมตัวเทียบจนจมูกล้า ถ้าเราดมกลิ่นอะไรไม่ได้จากน้ำหอมกลิ่นที่สองที่เราดม แสดงว่าน้ำหอมทั้งสองตัวมีองค์ประกอบที่เหมือนกัน
.
เทคนิคนี้ถูกเรียกว่า “Inducing Temporary Selective Odor Fatigue” (ITSOF) ซึ่งสามารถประยุกต์ใช้ได้หลายแบบ เช่นการตรวจคุณภาพของน้ำหอมกลิ่นเดียวกันที่ผลิตออกมาสองล็อต ผลิตออกมาเหมือนกันหรือไม่ หรือใช้ตรวจสอบว่าน้ำหอมเป็นของแท้หรือเปล่า โดยการดมเทียบกับน้ำหอมแท้ที่เรามี
.
แล้วจริง ๆ กลิ่นของเมล็ดกาแฟช่วยรักษาภาวะจมูกล้านี้ได้จริงไหม?
.
ในความเป็นจริงแล้ว “ไม่มีงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ใดยืนยันว่าเมล็ดกาแฟทำเช่นนั้นได้”
.
มันอาจทำได้แค่เบี่ยงเบนความสนใจของเราไปชั่วขณะ แต่มันไม่ใช่การเยียวยาอย่างแท้จริง แมนดี อาฟเทล (Mandy Aftel) นักปรุงน้ำหอมผู้เขียนหนังสือ “โลกเร้นลับของกลิ่นหอม” (“Fragrant : The Secret Life of Scent”) ใช้วิธีการสูดหายใจลึก ๆ สามครั้งผ่านผ้าขนสัตว์เมื่อเจอกับภาวะจมูกล้า โดยมีสมมติฐานว่าสารลาโนลิน (Lanonin) ในผ้าอาจช่วยดูดซับและทำให้กลิ่นเป็นกลาง เพื่อพักจมูกจากกลิ่นต่าง ๆ รอบตัว
.
ในขณะที่มัตวีย์ ยูดอฟ (Matvey Yudov) นักเขียน และบรรณาธิการของ Fragrantica หนึ่งในแหล่งรวมข้อมูลน้ำหอมที่ใหญ่ที่สุดในโลกแนะนำให้เราพัก และมี “วันว่าง” จากน้ำหอมเพื่อให้ร่างกายเราผ่อนคลายจากภาวะแบบนี้ลงไป
Comments