top of page

มนต์เสน่ห์ลึกลับของการปรุงน้ำหอม

ถ้าพูดถึงอาชีพ Scent Designer ทุกคนรู้จักอาชีพนี้กันมากน้อยขนาดไหนคะ?


หลายๆอาจจะไม่คุ้นหูกับชื่ออาชีพนี้สักเท่าไหร่ แต่งานของพวกเขากลับอยู่รอบๆ ตัวเราชนิดที่ว่าต้องเจออยู่ทุกวันเลย ไม่ว่าจะเป็นสบู่ แชมพู ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่ให้กลิ่นหอม ล้วนมีพวกเขาอยู่เบื้องหลังสินค้าเหล่านี้ทั้งสิ้นเลยล่ะค่ะ



Scent Designer หรือนักออกแบบกลิ่น ศิลปินที่มีความสามารถในการถ่ายทอดแนวคิดที่เป็นนามธรรมและอารมณ์ความรู้สึกผ่านการผสมผสานของสารหอมและองค์ประกอบต่าง ๆ เข้าด้วยกัน ให้ออกมาเป็นกลิ่นที่มีความเป็นเอกลักษณ์


ผลงานของพวกเขาสามารถเรียกได้เลยว่าเป็น Signature Scent กลิ่นที่ดึงความเป็นเอกลักษณ์ออกมาได้อย่างโดดเด่น กลิ่นเฉพาะที่เมื่อได้กลิ่นแล้วจะนึกถึงสิ่งนั้นขึ้นมาในทันที สร้างความทรงจำ ความประทับใจ ทั้งยังสื่อสารความเป็นตัวตนเฉพาะออกมาได้เป็นอย่างดี


การปรุงน้ำหอมก็เหมือนกับการทำงานศิลปะ กลิ่นหอมที่ถูกปรุงแต่งขึ้นมานั้นสามารถสร้างความสุขได้ไม่ต่างจากการฟังเสียงดนตรีหรือการชมภาพจิตรกรรม


เพราะน้ำหอมแต่ละขวดล้วนมีกลิ่นที่เป็นเอกลักษณ์เป็นของตนเอง เป็นกลิ่นที่สร้างจินตนาการได้เหมือนเสียงเพลง มีส่วนที่จับต้องได้เหมือนภาพวาด

ซึ่งกลิ่นที่หอมอบอวลก็ไม่ได้ต่างกับตัวโน้ต โน้ตเพลงเมื่อถูกเรียงร้อยอย่างมีจังหวะก็จะเกิดเพลงที่ไพเราะ กลิ่นหอมที่ถูกปรุงแต่งอย่างลงตัวก็สามารถสร้างความประทับใจแก่คนรอบข้างได้เช่นกัน


และวันนี้เราจะพาทุกคนดำดิ่งสู่โลกน้ำหอม กับเทคนิคกับการปรุงกลิ่นของ Scent Designer Junior ของบริษัท Scent And Sense ตัวตนของนักปรุงกลิ่นที่เรียกได้ว่ามีจำนวนน้อยมากในประเทศไทย การปรุงกลิ่นแต่ละครั้งมีความยากง่ายขนาดไหน เรามาติดตามพร้อมๆกันเลยค่ะ


บุณฑริญา จำปาทอง (แพตตี้) และพณวรรษ ดิถีเพ็ง (เบส) สองนักปรุงกลิ่น ที่ผ่านการผสมผสานกลิ่นหอมมานับไม่ถ้วน เปิดใจเล่าถึงเทคนิคการปรุงกลิ่นในแบบฉบับเฉพาะตัว


ก่อนการจะเริ่มทำอะไรสักอย่าง เราจะต้องเริ่มต้นทำความคุ้นเคยกับมัน ในการปรุงกลิ่นก็เช่นกัน จะต้องทำความคุ้นเคยกับสารหอมแต่ละชนิดที่ถูกแบ่งออกเป็นหมวดหมู่ ว่าแต่ละหมวดหมู่นั้นมีความโดดเด่นในด้านไหน เช่น หมวดตัว C คือ Citrus ให้กลิ่นจำพวกโทนเปรี้ยว เช่น ส้ม มะนาว เป็นต้น


จากนั้นเรียนรู้คาแรคเตอร์ของกลิ่น และจดจำความแตกต่างเฉพาะตัว เช่น ในกลิ่นของโทนกุหลาบ ไม่เพียงแต่จะสื่ออารมณ์ถึงความเป็นกุหลาบเท่านั้น แต่ยังสามารถสื่อถึงความรู้สึกแนวเพลงดนรีในจังหวะแบบ Heavy metal หรือ rock metal ได้อีกด้วย


ทั้งหมดทั้งมวลคือต้องจดจำและใช้การบันทึก ซึ่งทั้งสองคนต่างมี Dictionary ในแบบเฉพาะของตัวเอง เป็นข้อมูลสำหรับโทนกลิ่นและคาแรคเตอร์ของกลิ่นนั้น ๆ เนื่องจากสารหอมแต่ละชนิดที่ได้ดม อาจให้ความรู้สึกและทำให้เกิดจินตนาการภาพได้เพียงแค่คำว่าคล้ายกันเท่านั้น



หลังจากทำความคุ้นเคยกับสารหอมแต่ละชนิดแล้ว ในขั้นตอนต่อไปคือการปรุงกลิ่นตาม Concept ที่ได้รับมา


บุณฑริญา จำปาทอง (แพตตี้) เริ่มจากการตีโจทย์ด้วยกลิ่น เช่นใน Concept สวนดอกไม้ จะแยกองค์ประกอบว่ามันจะต้องมีอะไรบ้าง จะต้องมีกลิ่นดิน กลิ่นหอมของดอกไม้ กลิ่นของหญ้า รวมถึงความโปร่งของลม ใช้ความคุ้นเคยในการหยิบสารหอมแต่ละชนิดนำมาผสมผสานให้ได้กลิ่นที่มีความเป็นเอกลักษณ์ในแบบฉบับของตัวเอง


ส่วนพณวรรษ ดิถีเพ็ง (เบส) ตีโจทย์ด้วยการมองให้เห็นเป็นภาพและสี เช่น Concept ในโจทย์ Essential oil ในห้องนอน จะเริ่มต้นด้วยการหาแรงบันดาลใจด้วยภาพที่ชอบ และหาข้อมูลว่าความเป็นอยู่ในห้องนอนควรจะเป็นยังไง เริ่มที่ความชอบของตัวเอง เช่นโดยส่วนตัวเบสแล้ว ชอบห้องนอนมืดๆ ที่มีความเย็นสบาย ไม่มีเสียงรบกวน หลังจากนั้นเลือกใช้สารหอมที่ให้คาแรคเตอร์ที่ตรงกับความต้องการ หยิบนำมาผสมผสานให้มีกลิ่นที่มีความเอกลักษณ์ในแบบฉบับของตนเองเช่นกัน



การปรุงกลิ่นหนึ่งกลิ่น ผลงานที่ออกมานั้นให้ความสุนทรีได้พอๆกับการสร้างงานศิลปะหนึ่งชิ้นเลยนะคะ แต่กว่าจะได้มาก็ต้องใช้อารมณ์และจินตนาการในการสร้างสรรค์ร่วมด้วย เพื่อให้สิ่งที่ออกมามีความสมบูรณ์แบบและดีที่สุด


หลังจากได้คุยกับทั้งคู่แล้ว ใครจะคิดละคะ ว่ากลิ่นหอมหวานของกุหลาบจะยังสามารถสื่อถึงแนวดนตรีแบบ rock metal ได้ด้วย เราจะเห็นได้ว่าทั้งคู่ต่างใช้วิธีในการตีโจทย์นั้นต่างกัน การมองภาพรวมของทั้งคู่ก็ต่างกัน นี่คงจะเป็นเหตุผลว่าทำไมกลิ่นที่ถูกปรุงขึ้นมา ถึงได้มีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่ไม่มีใครสามารถลอกเลียนแบบได้เลย


Commentaires


Featured Posts

Recent Posts

Archive

Search By Tags

Follow Us

  • Facebook Basic Square
  • Twitter Basic Square
  • Google+ Basic Square
bottom of page